พระพิษณุโลก | Prapsl.com

พระพิษณุโลก | Prapsl.com

ลำดับ 459 พระรอดพิมพ์ใหญ่ กรุจังหวัด ลำพูน

  
                           พระรอดพิมพ์ใหญ่ เนื้อดิน กรุจังหวัด ลำพูน

“ พระรอดพิมพ์ใหญ่เนื้อดินเผา ของกรุวัดมหาวันลำพูน”
โดย สำราญกาญจนคูหา 

“พระรอด”กรุวัดมหาวันลำพูนนั้น คือยอดพระเครื่อง ที่ถูกจัดให้เข้าเป็นหนึ่งในพระ”ชุดเบญจภาคี อันมีชื่อเสียงระบือลือลั่นไปทั่ววงการของนักนิยมสะสมพระเครื่องทั่วฟ้าเมืองไทย การที่จะได้พบเห็น “พระรอด”ที่เป็นของแท้ในปัจจุบันนี้ เป็นเรื่องที่ยากแสนยากไปแล้ว ส่วนใหญ่ที่พบเห็นกันนั้นมักจะเป็นพระรอดที่ทำปลอมกันขึ้นมา เพื่อหลอกขายกับผู้ที่ไม่เข้าใจและเรียนรู้กันอย่างถูกต้อง มีการโฆษณาว่าขุดพบพระรอดจากกรุโน้นกรุนี้กันให้วุ่น เป็นการสร้างภาพให้หลงผิดคิดว่าเป็นจริง ซึ่งพระรอดแท้ๆนั้นจะพบเห็นได้เพียงกรุเดียวเท่านั้น ก็คือกรุวัดมหาวันอำเภอเมืองลำพูน เท่านั้น และพระรอดจากกรุนี้ก็คงงวดลงไม่เหลือให้ได้พบเห็นกันอีกแล้ว เนื่องจากในบริเวณของวัดถูกขุดจนปรุไปจนหมด ไม่เหลือที่จะให้ได้ขุดอีกเลย หากพระรอดแท้ๆจะมีหลงเหลืออยู่ ส่วนใหญ่นั้นก็จะเป็น พระรอดเก่าเก็บ ของบรรดานักสะสมรุ่นเก่าแก่รุ่นแรกๆ ที่ได้เก็บสะสมไว้ และบรรดาลูกหลานไม่ได้สนใจจะเก็บรักษาไว้ให้ดี โดยที่ไม่รู้คุณค่า ต่างพากันเอาออกมาขายกันแบบไม่รู้เรื่องรู้ราวกัน หรือไม่ก็จะอยู่ในรังใหญ่ของผู้มีอันจะกิน ที่ไม่จำเป็นในเรื่องเงินทอง

ผู้เขียนเป็นคนเมืองลำพูนตั้งแต่เกิดจนกระทั่งปัจจุบัน ได้พบเห็นการขุดหาพระกรุต่างๆ ในหลายที่หลายแห่ง ได้รู้จักมือขุดทั้งรุ่นเก่ารุ่นใหม่มากหน้าหลายตา ที่เป็นชาวบ้านธรรมดาๆทั้งคนแก่คนหนุ่ม และมีความสนใจในการศึกษาและแสวงหาพระกรุต่างๆมาพอสมควร จึงได้ติดตามเรื่องราวต่างๆที่เกี่ยวข้องกับพระเครื่องในชุดสกุลลำพูนต่างๆ และได้เก็บสะสมไว้ มากพอสมควร ได้เรียนรู้และเก็บเล็กผสมน้อยในเกล็ดข้อมูลต่างๆไว้ ซึ่งก็เป็นประโยชน์ในการที่จะนำมาเล่าสู่กันฟังและเป็นการเผยแพร่เอาไว้ให้อยู่ยั้งยืนยงสืบต่อๆไป เรื่องราวของ”พระรอด”ของกรุวัดมหาวันลำพูนนั้นเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจ น่าติดตาม มีคำกล่าวของผู้ที่นิยมสะสมพระกรุในชุดสกุลลำพูนที่เป็นคนเมืองอื่น ไม่ใช่เป็นคนเมืองลำพูนแท้ๆ ได้กล่าวไว้ว่า “พระกรุของชุดสกุลลำพูน”ทั้งหมดนั้น “ ไม่มีพระเนื้อโลหะอยู่เลย “ ในฐานะผู้เขียนเป็นคนเมืองลำพูนนี้มาตั้งแต่เกิด และได้มีความสนใจศึกษา และติดตามเรื่องราวของพระกรุชนิดต่างๆของเมืองเก่าแก่โบราณแห่งนี้มาโดยตลอด ได้พบเห็นและเก็บสะสมพระกรุในชุดสกุลลำพูน ทุกชนิด ทั้งเนื้อดินและเนื้อโลหะ รวมทั้งพระที่ทำขึ้นใหม่ มากมายหลายอย่างเพื่อเป็นกรณ์ศึกษาว่า จริง แท้นั้นเป็นอย่างไร มีความเหมือนและแตกต่างกันเช่นไร จนได้ความรู้และตีบทแตกพอสมควร ได้พบเห็นพระกรุแท้ๆของพระชุดสกุลลำพูนที่เป็นเนื้อโลหะแทบจะทุกชนิด จึงกล้ายืนยันได้อย่างเต็มปากว่า”พระกรุของพระชุดสกุลลำพูน”นั้น มีทั้งที่เป็นพระเนื้อดินและเนื้อโลหะอย่างจริงแท้แน่นอน และมีตัวอย่างของแท้ให้ได้เห็นและสามารถชี้ชัดได้ว่าคือของแท้แน่นอน หากท่านผู้ที่สนใจใคร่รู้ก็จงได้ติดตามเรียนรู้และศึกษากันได้ต่อไป

สำหรับเรื่องของพระพุทธคุณนั้น ผู้เขียนก็ได้ทดลองและได้ให้ผู้ที่เชี่ยวชาญลองพิสูจน์ในเรื่องพลังพุทธคุณ ปรากฎว่าเป็นเฉกเช่นเดียวกันกับพระกรุเนื้อดินอย่างไม่ผิดเพี้ยนและเหมือนกันทุกประการ ซึ่งสิ่งที่กล่าวอ้างมานี้มิได้เป็นเรื่องเลื่อนลอย ไม่ลองเราก็ไม่รู้ และไม่เชื่อเราก็ไม่ควรจะลบหลู่ เพราะเป็นสิ่งที่นอกเหนือจากที่เราจะคาดคิดได้ เกริ่นกล่าวกันมาพอสมควร เราจะมาพูดถึงเรื่องราวของพระรอดกรุวัดมหาวันลำพูนกันต่อ พระรอดกรุวัดมหาวันที่ขุดพบนั้นมีมากมายหลายรูปแบบ บางพิมพ์ทั้งๆที่เป็นพระกรุแท้ๆ แต่ก็ไม่นิยมและยอมรับกัน เนื่องจากไม่เป็นที่รู้จัก หรือไม่เคยพบเห็นกันมาก่อน แต่ก็ไม่ได้เป็นปัญหา เพราะของแท้นั้นก็คือของแท้ที่จะแปรเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ พระรอดที่วงการพระเครื่องให้การยอมรับนั้น มีอยู่หกพิมพ์ คือพระรอดพิมพ์ใหญ่ พระรอดพิมพ์กลาง พระรอดพิมพ์เล็ก พระรอดพิมพ์ต้อ พระรอดพิมพ์ตื้น พระรอดพิมพ์แขนติ่ง ในพระรอดแต่ละพิมพ์นั้น ก็จะมีรูปลักษณ์ที่แตกต่างผิดเพี้ยนกันไปบ้าง เพราะการทำพระจำนวนมากนั้นต้องมีแม่พิมพ์หลายพิมพ์ ซึ่งก็จะมีความแตกต่างผิดเพี้ยนกันไปบ้าง แต่สัญญลักษณ์ของพิมพ์ทรงแต่ละพิมพ์ก็จะต้องคงเอาไว้ มีกฎเกณฑ์ของการกำหนดจุดต่างๆให้เป็นที่สังเกตและจดจำกันได้ว่าเป็นพิมพ์นั้นๆ เช่นพระรอดพิมพ์ใหญ่นั้น จะต้องมีเส้นพิมพ์แตกทางด้านข้าของหูด้านซ้ายและมีเส้นน้ำตกใต้แขนซ้ายย้อยลงไปยังฐาน

พิมพ์กลางนั้นต้องงมีเส้นพิมพ์แตกตรงส่วนใต้คางย้อยลงมายังยอดอก และฐานประทับต้องเป็นฐานสามชั้น พิมพ์เล็กจะต้องมีเส้นเอ็นคอที่เป็นขีดโค้งตรงใต้คางด้านซ้าย ก้นฐานประทับจะต้องเป็นจีบทั้งสองข้างขึ้นไป พระรอดพิมพ์ต้อรูปลักษณ์จะต้องล่ำต้อเศียรใหญ่ และมีโพธิ์คู่ทางด้านบนขวาของงเศียรเพียงคู่เดียว ส่วนโพธิ์ประดับส่วนอื่นเป็นโพธิ์เดี่ยว พระรอดพิมพ์ตื้น นั้นจะมีทุกส่วนขององค์ที่ดูตื้นไม่มีส่วนของความลึกปรากฎ และโพธิ์ประดับนั้นจะมีเพียงโพธิ์แถวเดียว ไม่มีโพธิ์คู่และมีพิมพ์แตกทางด้านข้างของหูซ้ายปรากฎให้เห็นเป็นสองและสามขยัก พระรอดแขนติ่งนั้นเป็นพระรอดที่มีศิลปะทวารวดีผสมอยู่ คาดเดาว่าจะเป็นพระรอดต้นแบบแรกสุดก่อนที่จะพัฒนาเป็นพระรอดพิมพ์ต่างๆ เป็นศิลปะที่ที่ไม่เหมือนจริง ที่เรียกว่าแบบ”แอ๊ปแสตร็ก”ให้ลองสังเกตดูก็จะเห็นเค้าลางอย่างที่ว่าไว้ ตรงส่วนแขนขวาใกล้กับหัวไหล่ขวาจะมีติ่งนูนปรากฎให้เป็นที่สังเกตอันเป็นที่มาของการเรียกชื่อของพระรอดแขนติ่งนี้ สำหรับพระรอดชนิดอื่นเช่น “พระรอดครูบากองแก้ว” พระรอดกรุน้ำต้น”นั้นเป็นพระรอดที่สร้างขึ้นมาตอนหลัง มีอายุไม่เกินร้อยปี แต่มีการผสมมวลสารและดินเก่าของพระกรุต่างๆที่แตกหักเสียหาย มาบดผสมลงไปและสร้างขึ้นมาใหม่ ซึ่งก็มีพุทธคุณปรากฎอยู่เป็นที่นิยมกันพอสมควร.

เราจะมาพูดถึงพระรอดกรุวัดมหาวันพิมพ์ใหญ่ของกรุวัดมหาวัน ที่เป็นพิมพ์ยอดนิยมและมีคุณค่าราคาสูงสุด พระรอดกรุวัดมหาวันทุกพิมพ์ทุกเนื้อนั้น เป็นพระกรุที่มีอายุเก่าแก่นับพันๆปี มีเนื้อหาที่หนึกนุ่มนวลเนียนตา สีสันต่างๆนั้นมีอยู่หลากหลายสี เช่นสีเนื้อ สีแดงแบบอิฐมอญ สีดำ สีเทา สีพิกุล สีเขียวหินครก สีผ่านที่มีเนื้อสองสีในองค์เดียวกัน สีน้ำตาล สีขาวนวล สีขาวขุ่น หลักใหญ่ที่ใช้ในการพิจารณา พระรอดพิมพ์ใหญ่นั้น ต้องดูพุทธลักษณะพิมพ์ทรงก่อน ว่าถูกต้องหรือไม่ ลวดลายของใบโพธิ์ กลุ่มโพธิ์นั้นจะต้องใช้ความสังเกต พิจารณาดูให้ดี การแบ่งกลุ่มโพธิ์แบ่งกลุ่มกันอย่างไร รูปทรงเค้าหน้า พระเกศ หน้าตา หู ปากจมูก องค์พระ การประทับนั่ง ด้านหลัง ก้นฐานและปีกข้างหรือเนื้อเกินว่าเป็นอย่างไร มีความเก่าแก่และเป็นธรรมชาติหรือไม่

พุทธลักษณะทั่วไปของพระรอดพิมพ์ใหญ่ องค์พระประทับนั่งปางมารวิชัยขัดสมาธิเพชร บนฐานบัลลังก์สี่ชั้น มีซุ้มของลวดลายประดับโดยรอบองค์พระ ที่ถือกันว่าเป็นลวดลายของแท่ง เป็นใบโพธิ์ก้านโพธิ์ ซึ่งเรียกกันให้ง่ายแก่การทำความเข้าใจ ไม่ยุ่งยากจนมากไป ฐานที่ประทับนั่งชั้นแรกนั้น จะเป็นฐานที่มีขนาดกว้างใหญ่กว่าฐานชั้นอื่นๆ เหนือบนฐานชั้นแรก ตรงส่วนใต้หน้าตักที่ประทับนั่งมีขีดเล็กเท่าเส้นผม ขีดสั้นๆ เส้นนี้เรียกกันว่าเส้นผ้าปูนั่ง เส้นนี้เป็นจุดสังเกตที่จะต้องจดจำไว้ให้ดี ต้องเป็นเส้นที่มีขนาดเล็กเท่ากับเส้นผม มีความเป็นธรรมชาติอย่างแท้จริงและจะเป็นเส้นสั้นๆพอจะให้สังเกตได้เท่านั้น หากยาวไปจนเกินที่ก็ไม่ถูกต้อง ถัดลงไปจากฐานชั้นแรกนั้น ก็จะเป็นร่อง ระหว่างฐานชั้นแรกกับฐานชั้นที่สอง ในร่องนี้จะมีเส็นเล็กๆคมๆ ลากยาวเกือบตลอดแนว เส้นนี้เรียกกันว่า”เส้นแซม” เส้นนี้จะมีความเป็นธรรมชาติ ที่ไม่ตรงดิกเหมือนกับเส้นที่ขีดด้วยไม้บรรทัด บางทีจะสูงๆต่ำๆ หรือขาดๆเกินๆให้เห็น นี่คือข้องสังเกตที่ควรจะจดจำไว้ ฐานชั้นที่สองนี้จะทิ้งห่างจากฐานชั้นแรกกเนื่องจากมีเส้นแซมอยู่ในร่องฐานดังกล่าว ถัดจากฐานชั้นที่สองก็จะเป็นฐานชั้นที่สามและฐานชั้นที่สี่ ฐานสองชั้นนี้ จะติดกันพอให้เห็นเป็นแนวว่าเป็นฐานอีกสองชั้น ไม่ถูกแบ่งออกจากกัน จุดสังเกตอีกอย่างหนึ่งก็คือริมฐานทั้งสี่นี้จะมีส่วนปลายทั้งสองข้างมนรับกับฐานดากที่เป็นเนื้อยื่นลงไปตรงก้นฐาน ซึ่งฐานดากนี้จะมีเฉพาะในพระรอดพิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลางและพิมพ์ตื้นเท่านั้น

ก้นฐานของพระรอดดังกล่าวทั้งสามพิมพ์นี้ เขาจะเรียกกันว่า”ก้นพับ” หรือ”ฐานก้นแมงสาป” ตรงส่วนฐานด้านซ้ายของพระรอดพิมพ์ใหญ่นี้ให้สัเกตให้ดี จะมีเส้นเล็กๆที่เรียกกันว่า”เส้นน้ำตก” ที่มีลักษณะเหมือนกับรากไม้ที่เป็นเส้นหงิกงออย่างเป็นธรรมชาติ เส้นนี้จะลากลงมาจากลำแขนใกล้กับข้อศอกซ้ายลงมายังปลายเท้าขวา จากนั้นด้วยฝีมือเชิงช่างของช่างชาวหริภุญไชยชั้นสูงได้สอดเส้นน้ำตกนี้ลงมาหน้าแข้งขององค์พระอย่างแนบเนียนให้เห็นเป็นเส้นน้ำตกที่ส่วนปลายเป็นสองแฉก มีลักษณะ คล้าย กับตัว”วาย”ของอักษรในภาษาอังกฤษที่คว่ำลง หรือแก้วแชมเปญที่คว่ำลง เส้นน้ำตกเส้นนี้จะอยู่บนฐานประทับชั้นแรกจากนั้นเส้นนี้ ก็จะสอดแทรกลงมายังบนฐานชั้นที่สองในแนวเดียวกัน และแตกออกเป็นเส้นสามเส้น บางท่านเรียกกันว่า “เส้นสามซ่า” เส้นสามเส้นนี้จะดีดตัวถ่างออกจากกันอย่างเห็นได้ชัด และจะดีดเฉียงออกไปยังทางซ้ายขององค์พระ ไม่ได้เป็นเส้นที่ดูทื่อหรือตั้งตรงลงมา เป็นจุดสังเกตอันสำคัญอีจุดหนึ่งที่จะต้องดูอย่าง ละเอียด

และจงอย่าลืมความเป็นธรรมชาติของเส้นที่เป็นองค์ประกอบของพุทธศิลป์ที่มีความพริ้วไหวอันแท้อย่างมิได้จงใจหรือเสแสร้ง สัญญลักษณ์ที่สำคัญที่สุดของพระรอดพิมพ์ใหญ่นั้น จะมีปรากฎให้เห็นเป็นที่สังเกตอันสำคัญยิ่งก็คือ ตรงกลุ่มโพธิ์ด้านซ้ายมือขององค์พระตรงข้างหูซ้ายนั้น จะมีกิ่งโพธิ์ที่แตกขยุกขยิกคล้ายกับรากไม้ ที่มีส่วนปลายพุ่งลงมายังขอบใบโพธิ์ประดับ ตรงส่วนของโคนเส้นพิมพ์แตกที่อยู่ใกล้กับใบหูซ้ายนี้ จะมีโพธิ์ติ่งเป็นเม็ดนูนเด่นให้เห็นอย่างชัดเจน เป็นจุดสังเกตอีกจุดหนึ่ง เท่าที่กล่าวมาในตอนนี้คงพอจะทำให้เข้าใจได้ว่าพระรอดพิมพ์ใหญ่ของกรุวัดมหาวันที่เป็นพระกรุแท้ๆนั้นมีพุทธศิลป์เป็นอย่างใด

รายละเอียดพิมพ์ทรงของพระรอดพิมพ์ใหญ่ของพระรอดกรุวัดมหาวันนั้น เราจะพูดถึง รูปลักษณะของเศียรกันก่อน พระรอดนั้นจะมีเศียรที่ดูค่อนข้าใหญ่ มีเกศที่จิ่มแหลม คล้ายกับหางเปียแขก ที่ลากจากเบื้องหลังท้ายทอยขึ้นไปสู่ผนังโพธิ์ ส่วนของปลายเกศนั้นจะอยู่เยื้องกับ ก้านโพธิ์ที่เป็นก้านแบ่งกลุ่มโพธิ์ ก้านโพธิ์นี้จะเป็นแท่งลงมา ปลายของก้านโพธิ์นี้จะหลบปลายเกศไปทางขวาขององค์พระ และจะมีลักษณะแตกปลายคล้ายหางของนกแซงแซว ส่วนปลายเกศนี้จะสั้นไม่ยาวมาก
ไรพระศก เป็นเส้นของกรอบหน้า ที่ยาวพาดผ่าน บริเวณหน้าผากจากเหนือใบหูขวาขององค์พระไปจรด ตรงเหนือหูซ้าย เป็นเส้นวาดที่มีความลึกพองาม ลักษณะดูเป็นธรรมชาติ มีจุดสังเกตคือเส้นไรพระศกนี้จะเป็นลักษณะตกท้องช้าง มีจุดวงกลมเล็กๆบุ๋มลงไปตรงกลาง จุดนี้คืออุณาโลม รายละเอียดเล็กๆน้อยๆนี้จะต้องพิจารณากันอย่างละเอียด และต้องจดจำไว้ให้ดี

รูปลักษณ์ของเศียรและวงหน้า รูปลักษณ์ของวงหน้ามีลักษณะเหมือนผลมะตูม หรือหน้ารูปไข่ อันเป็นลักษณะเฉพาะ ของพุทธศิลป์ของศิลปะหริภุญไชย ตรงส่วนคางจะดูสอบเข้าเล็กน้อย องค์ที่ติดพิมพ์ชัดเจนนั้น จะมีตา หู ปากจมูกให้เห็น สังเกตให้ดี ตาของพระรอดนี้จะเป็นลักษณะของตาเนื้อไม่ใช่เป็นตาแกะ มีความเป็นธรรมชาติอย่างแท้จริง ดวงตานั้นมีลักษณะเหมือนกับเม็ดงาวางขวางอยู่ ตรงระดับของใบหูทั้งสองข้าง หางตายาวเกือบจรดใบหู จมูกจะดูบาน เนื่องจากเป็นส่วนที่โด่งนูนสูง เวลากดพิมพ์จึงถูกทำให้แฟบลงเล็กน้อย ส่วนบนของจมูกนี้อยู่ต่อจากโหนกคิ้วทั้งสองด้านลงมา จุดสังเกตที่สำคัญอีกจุดหนึ่งก็คือเมื่อพลิกดูตรงส่วนจมูกนี้จะเห็นรูจมูกเล็กๆสองรูอย่างชัดเจน นี่คือภูมิปัญญาของเชิงช่างชาวหริภุญไชยโบราณที่มีความละเอียดละออในผลงานที่รังสรรค์ขึ้นมาได้อย่างน่ายกย่องสรรเสริญยิ่ง ตรงส่วนของปากจะเห็นเป็นปื้นคล้ายรูปของเดือนเสี้ยวที่หงายขึ้น บางองค์จะเห็นรูปปากที่นูนจู๋เหมือนปากปลากัด ส่วนคางของพระรอดนั้น จะดูงามเรียบร้อยอย่างลงตัวแต่ก็มีบ้างที่จะเสียเพราะถูกครูดในตอนที่ยกออกจากพิมพ์ สำหรับองค์ที่ติดพิมพ์ชัดเจน ส่วนปลายคางจะยื่นออกเล็กน้อยเหมือนคางของคนจริงๆ ตรงส่วนกรามจะเป็นเหลี่ยมอย่างสมจริง

ใบหูของพระรอดพิมพ์ใหญ่นั้น เมื่อดูแบบหน้าตรงจะเห็นเป็นเส้นเรียวบางเหมือนคมมีด ขีดลงมาเกือบจรดบ่า เมื่อดูจากด้านข้างนั้นจะเห็นเป็นลักษณะคล้ายกับใบหูของพระพุทธรูป ตรงส่วนปลายของใบหูทั้งซ้ายและขวานั้น มีจุดสังเกตคือ ปลายใบหูซ้ายจะมีเส้นหักแหลมคล้ายตะขอเป็นเงี่ยงแหลมชี้เข้าหาตรงกรามซ้าย ส่วนปลายของใบหูด้านขวาขององค์พระก็จะมีลักษณะเหมือนกับส่วนปลายของใบหูทางด้านซ้าย แต่เงี่ยงแหลมนี้จะชี้ออกไปจากกราม สำหรับใบหูส่วนบนนั้นจะเห็นเป็นใบค่อนข้างใหญ่ ส่วนปลายจะเรียวเล็กได้อย่างเหมาะสมยิ่ง

ลำคอของพระรอดนั้นมีลักษณะที่กลมกลืนกับพื้นผนัง ที่นูนขึ้นมารับกันกับอกและไหล่ทั้งสองข้างขององค์พระ ที่เป็นความสามารถในฝีมือเชิงช่างที่สามารถรังสรรค์ออกมาได้อย่างลงตัว
อกของพระรอดพิมพ์ใหญ่นั้น มีความอูมอิ่มที่พอดีพองามอย่างลงตัว ไม่อ้วนหรือผอมบางจนเกินไป การห่มจีวรขององค์พระนั้นเป็นการห่มจีวรแบบห่มดอง จึงไม่ได้แสดงรายละเอียดของหน้าอกมากนัก จะเห็นเพียงเส้นแบ่งของจีวรที่พาดผ่านจากใต้รักแร้ด้านขวาพาดผ่านขึ้นไปยังบนบ่าขวาขององค์พระ เป็นเส้นแบ่งส่วนหน้าอกที่บุบวาดชนิดเป็นร่องลึกพองาม ในร่องนั้นมีลักษณะตกท้องช้างไม่ใช่เป็นแบบขีดด้วยเของแหลม ซึ่งมักจะเห็นในพระฝีมือที่ทำกันขึ้นมา เส้นแบ่งของจีวรที่พาดผ่านนั้นจะมีลักษณะที่ดูโค้งอ่อนช้อยงดงามอย่างลงตัวไม่ขัดนัยน์ตาเลย ช่วงของรูปทรงองค์เอวของหน้าอกถึงท้องนั้น ยาวพองาม ดูเป็นรูปตัววี และกลืนหายไปตรงแนวสะดือ ไม่ยาวลงไปจนถึงด้านล่างต่ำกว่าสะดือ สะดือของพระรอดนั้นจะกลมลึกคล้ายกับเบ้าขนมครก แต่ไม่ลึกมากจนเกินงาม องค์ที่ติดพิมพ์ชัดจะเห็นมีขอบเป็นวงแหวนโดยรอบ เป็นจุดสังเกตที่ควรจำไว้สำหรับการพิจารณาดู

ลำแขนของพระรอดพิมพ์ใหญ่นั้นจะมีลำแขนที่ดูใหญ่ หากเทียบกับลำตัว การประทับนั่งของพระรอดทุกพิมพ์นั้นเป็นแบบปางมารวิชัยขัดสมาธิเพชร แขนขวาจะเป็นลำมนลงมาจากไหล่อย่างมีจังหวะ ลำแขนแสดงกล้ามเนื้อแบบเป็นธรรมชาติคล้ายลำแขนของคนจริงๆ ให้สังเกตการทอดลำแขนลงมา จะเป็นจังหวะสามจังหวะ คือส่วนบนคือโคนแขนถึงข้อศอก จากข้อศอกถึงข้อมือ จากข้อมือลงมาถึงฝ่ามือ ที่วางลงบนหัวเข่าขวา ปลายนิ้วมือนั้นจรดกับพื้นฐาน ส่วนแขนซ้ายนั้นวางลงมาเป็นสามจังหวะเช่นกันคือจากหัวไหล่ เป็นโคนแขนที่แสดงให้เห็นกล้ามเนื้อชัดแจ้งกว่าทางแขนขวา จากนั้นก็เป็นข้อศอกที่หักเข้าหาลำตัวพาดผ่านลงบนหน้าตัก และข้อมือที่มีฝ่ามือวางหงายบนหน้าตักอย่างลงตัวและพอดี

ข้อมือและฝ่ามือของพระรอดพิมพ์ใหญ่ มือซ้ายของพระรอดพิมพ์ใหญ่นี้จะดูยาวมาก เป็นมือที่วางพาดลงบนหน้าตักองค์ที่ติดพิมพ์ชัดเจนจะมองเห็นนิ้วหัวแม่มือจีบชัดรวมกับนิ้วอีกสี่นิ้วจีบรวมกัน หากมองตรงๆจะเห็นเป็นติดกันเป็นพืดยาวเป็นเส้นเดียวกัน ส่วนมือขวาที่วางทิ้งดิ่งลงมากุมบนหัวเข่าขวานั้นปลายนิ้วมือวางจรดกับพื้นฐาน ปลายนิ้วติดกันเป็นพืดรวมห้านิ้ว นิ้วหัวแม่มือแยกออกไปต่างหากอีกหนึ่งนิ้ว รวมเป็นนิ้วมือด้านขวามือนี้เป็นหกนิ้ว จุดสังเกตปลายนิ้วหัวแม่มือนี้มีรอยตัดแต่ไม่ขาดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเล็กๆ ติดอยู่ตรงหน้าโคนขาขวาที่พาดขึ้นไปทางด้านซ้าย ซึ่งเป็นจุดที่จะต้องมีในพระรอดพิมพ์ใหญ่ทุกองค์

หน้าตักของพระรอดพิมพ์ใหญ่ พระรอดทุกพิมพ์นั้นประทับนั่งปางมารวิชัยขัดสมาธิเพชร เท้าขวาทับเท้าซ้ายเห็นหัวเข่า น่อง หน้าแข้งและปลายเท้าที่วางพาดบนเท้าซ้ายอย่างชัดเจน ส่วนขาซ้ายนั้น ถูกเท้าขวาวางทับมองเห็นหัวเข่าและหน้าแข้ง ส่วนปลายเท้าซ้ายนั้นไปโผล่ตรงเหนือฝ่ามือขวาที่วางลงมา มีลักษณะที่มองเห็นเป็นรูปคล้ายหยดน้ำ หรือคล้ายกับหัวปลาช่อนอ้าปาก ใต้ฝ่ามือซ้ายลงมา บนฐานประทับชั้นแรกตรงค่อนไปทางจุดกึ่งกลาง จะเป็นช่องว่างระหว่างหน้าแข้งกับฐานชั้นแรก จะเป็นแอ่งลักษณะคล้ายท้องกระทะอย่างเป็นธรรมชาติและลงตัว จะเห็นเส้นผ้าปูรองนั่ง เป็นเส้นขนาดเล็กเท่าเส้นผม ขีดอยู่เหนือบนฐานเล็กน้อย เส้นเล็กๆสั้นๆนี้จะอยู่ค่อนไปทางซ้ายนิดๆ เป็นจุดสังเกตสำคัญจุดหนึ่งที่ควรจดจำไว้ให้ดี
ฐานประทับหรือจะเรียกว่าอาสนะก็ได้ พระรอดพิมพ์ใหญ่นี้มีฐานประทับสี่ชั้น ชั้นแรกจะเป็นฐานที่มีส่วนหนาที่สุด ฐานทุกชั้นจะมีส่วนเว้าเข้า รับกับหน้าตักขององค์พระ ถัดจากฐานชั้นแรกเป็นแอ่งช่องว่าง ก่อนจะถึงฐานชั้นที่สอง ในร่องของช่องว่างนี้จะมีเส้นแซมขนาดเล็กเท่าเส้นผม ยาวโดยตลอด ให้สังเกตเส้นแซมนี้จะเป็นเส้นเล็กๆที่ไม่แข็งทื่อ ไม่เป็นแบบเส้นตรงที่ขีดโดยไม้บรรทัด มีความเป็นไปแบบธรรมชาติ ฐานชั้นที่สองนี้เป็นเส้นที่เล็กที่สุดในจำนวนฐานทั้งสี่ อยู่ถัดลงมาจากฐานชั้นบนลงมาโดยมีเส้นแซมคั่นอยู่

ส่วนเส้นที่สามกับเส้นที่สี่นั้นจะติดกันโดยมีร่องเล็กๆตื้นๆเป็นตัวคั่นไว้ให้เห็นว่าเป็นฐานอีกสองชั้น ฐานชั้นที่สี่นั้นจะมนรับกับก้นพับข้างล่างสุด ที่เรียกว่า ก้นพับ หรือฐานดากของพระรอดพิมพ์ใหญ่ ฐานทั้งสี่วางเรียงตัวกันอย่างมีจังหวะจะโคนที่ลงตัวอย่างสมบูรณ์งดงามมาก ทางด้านซ้ายของฐานของพระรอดพิมพ์ใหญ่จะมีเส้นเล็กๆ ที่เรียกกันว่าเส้นน้ำตกซึ่งเป็นจุดสำคัญหรือจุดตายของพระรอดพิมพ์ใหญ่ เส้นนี้เป็นเส้นเล็กๆคมชัดเหมือนเส้นเลือดฝอย หรือรากไม้ฝอย เป็นหัวใจของการชี้ชัดว่าพระรอดที่เราดูนั้นเป็นพระรอดพิมพ์ใหญ่ที่แท้จริงหรือไม่ เส้นที่ว่านี้จะเริ่มจากข้อพับของแขนซ้ายขององค์พระ เป็นเส้นเดี่ยวลากลงมา ยังฝ่าเท้าขวา แล้วกลืนหายไปโผล่ที่ใต้หน้าแข้งซ้าย ลงมาบนฐานชั้นแรก ตรงส่วนนี้ เส้นจะแตกออกเป็นสองแฉก มองดูคล้ายรูปของตัววายที่คว่ำลง หรือแก้วแชมเปญที่คว่ำลงเช่นกัน ให้ท่านลองพิจารณาดู จากนั้นเส้นนี้จะไปโผล่ที่ใต้ฐานของฐานชั้นแรก และแตกออกเป็นสามแฉกที่เรียกกันว่า “สามซ่า” เส้นสามซ่านี้จะเฉียงออกไปทางด้านซ้ายขององค์พระ ไม่ได้เป็นเส้นที่ตั้งตรง แนวของเส้นน้ำตกทั้งหมด จากข้างบนลงมาดังกล่าวนี้ จะเป็นเส้นตั้งฉากเป็นแนวเดียวกัน มองดูงดงามและซึ้งตาเป็นที่ยิ่ง เป็นเส้นเล็กนิดเดียวที่จะต้องใช้ความระมัดระวังในการล้าง หากต้องการความชัดเจน ให้จงดี เพราะอาจจะเสียหายหรือลบเลือนได้ จะทำให้เสียความรู้สึกไปโดยเปล่าประโยชน์ พระรอดเป็นพระกรุเนื้อดินขนาดเล็กเท่าปลายนิ้ว
แต่ได้ให้รายละเอียดและความรู้สึกต่างๆที่เป็นศิลปะชั้นสูงได้อย่างน่านิยมยกย่องในความคิดของผู้รังสรรค์ผลงานอันน่าประทับใจได้อย่างสุดยอดเลยทีเดียว พระรอดของกรุวัดมหาวันนั้นได้ชื่อว่ามีองค์ประกอบทางศิลปะได้อย่างลงตัว ทุกองค์ประกอบลงตัวได้อย่างน่าทึ่ง

ไม่ว่าจะเป็นหน้าตา ทรวดทรงองค์เอว ลำแขน มือทั้งสองข้าง ประทับนั่งอย่างสง่างามราวกับองค์ประธานในวิหารที่งามเด่นอย่างน่านิยมยิ่ง เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับพระชนิดต่างๆของกรุอื่นๆ จะมองเห็นความแตกต่างนั้นอย่างชัดเจนว่าเป็นเช่นไร
เรามาดูกลุ่มโพธิ์ของพระรอดพิมพ์ใหญ่กันดีกว่า พระรอดพิมพ์ใหญ่แบ่งกลุ่มโพธิ์ออกเป็นสองด้าน คือด้านขวามือขององค์พระและด้านซ้ายมือ โดยมีก้านโพธิ์แบ่งอยู่ตรงเหนือเศียร ก้านโพธิ์ก้านนี้จะมีส่วนปลายที่แตกออกคล้ายปลายดาบบ้างหรือปลายหางของนกแซงแซวบ้าง ปลายก้านนี้จะเบี่ยงไปทางด้านขวาของเกศเล็กน้อย นี่เป็นจุดสังเกตจุดหนึ่งที่จะต้องดูให้รู้แจ้งและจดจำเอาไว้ กลุ่มโพธิ์ทั้งหมดนั้นมีรวมกันหกกลุ่ม กลุ่มโพธิ์ด้านขวาแบ่งออกเป็นสามกลุ่ม กลุ่มโพธิ์ทางซ้ายสามกลุ่ม โดยมีก้านโพธิ์ที่เป็นแท่งยาวเป็นตัวคั่นออกเป็นกลุ่ม ๆ ในแต่ละกลุ่มนั้นจะมีลวดลายที่เรียกว่าใบโพธิ์ประดับ ลีลาของก้านและใบโพธิ์แต่ละกลุ่มนั้นจะไม่เหมือนกัน มีโพธิ์ติ่งให้เป็นจุดสังเกตสามจุดคือ กลุ่มโพธ์ที่สองทางขวา กลุ่มโพธิ์กลุ่มที่หนึ่งทางซ้าย และกลุ่มโพธิ์ที่สองทางซ้ายตรงเส้นพิมพ์แตกข้างหูซ้าย ซึ่งเป็นจุดสังเกตที่ควรจดจำไว้ให้ดี

ใบโพธิ์และก้านโพธิ์นั้นจะมีความเป็นธรรมชาติไม่แข็งกระด้างมีทั้งความลึกความตื้นให้ได้เห็นตามสภาพที่เป็นจริง กรอบนอกของกลุ่มโพธิ์นั้นก็เป็นจุดที่จะต้องดูเพราะกรอบนอกของพระรอดแท้นั้นค่อนข้างบางและคม การกดพิมพ์พระนั้นกดด้านหลังค่อนข้างแบน และบางตรงส่วนปลายดังนั้นส่วนปลายมักจะหักชำรุดได้

นอกจากพิมพ์ทรงและจุดสังเกตต่างๆขององค์พระรอดที่เราจะต้องดูและศึกษากันอย่างละเอียดแล้ว ความเก่าแก่ คราบกรุ ขี้กรุรวมทั้งเนื้อหาขององค์พระนั้น จะต้องพิจารณากันอย่างละเอียดและทำความเข้าใจให้ดี เพราะเนื้อพระรอดที่แท้นั้นจะมีความละเอียดหนึกนุ่มตามากกว่าพระชนิดอื่นเป็นอย่างมาก ดังนั้นการเรียนรู้และศึกษาอย่างละเอียด และการได้เห็นพระรอดที่เป็นของแท้บ่อยๆจึงเป็นสิ่งจำเป็นในการเรียนรู้เรื่องราวของพระกรุที่มีอายุอันเก่าแก่ชนิดนี้ได้อย่างถ่องแท้
เรามาดูพระรอดพิมพ์ใหญ่ของบผู้เขียนทั้งหมด ที่ได้รับการคัดสรรมาเป็นอย่างดีเพื่อให้เป็นการเรียนรู้และศึกษากันอย่างถูกต้องกันดีกว่า

                           พุุทธคุณ   ค้าขาย โภคทรัพย์ มหาลาภ แคล้วคลาดปลอดภัย
                           สภาพ        สวย
                           ราคา   ติดต่อสอบถาม
Close Menu