พระพิษณุโลก | Prapsl.com

พระพิษณุโลก | Prapsl.com

ลำดับที่ 513 เหรียญ เจ้าพ่อพญาแล รุนแรก ชัยภูมิ


                 
 
เจ้าพ่อพญาแล ชาวเวียงจันทน์ผู้สร้างเมืองชัยภูมิและร่วมป้องแผ่นดินสยาม

ราม วัชรประดิษฐ์
www.arjanram.com
เมื่อเข้าสู่ตัวเมืองชัยภูมิ จะต้องผ่านอนุสาวรีย์ที่โดดเด่นเป็นสง่าอยู่กลางวงเวียนศูนย์ราชการ อันนับเป็นมิ่งมงคลและที่สักการะกราบไหว้ของชาวชัยภูมิและใกล้เคียง ท่านผู้นี้คือ พระยาภักดีชุมพล (แล) หรือ ‘เจ้าพ่อพญาแล’ ต้นตระกูล “ภักดีชุมพล” ผู้ก่อตั้งและเจ้าเมืองชัยภูมิคนแรก ประการสำคัญคือ ท่านเป็นชนชาติลาวที่มีความจงรักภักดีต่อผืนแผ่นดินที่ได้มาพำนักอาศัย ร่วมปกป้องสยามประเทศจากศัตรูผู้รุกรานที่เป็นชนชาติเดียวกัน
ย้อนอดีตไปเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี พื้นที่บริเวณเมืองชัยภูมิยังเป็นที่รกร้าง จนล่วงมาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ตามหลักฐานจากพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รวมความได้ว่า “... ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) ราวปี พ.ศ.2360 ได้มีชาวลาวผู้หนึ่งนาม “ท้าวแล” ผู้เคยเป็นพระพี่เลี้ยงของเจ้าราชบุตร (โย้) พระโอรสของเจ้าอนุวงศ์ แห่งเมืองเวียงจันทน์ (ขณะนั้นเป็นประเทศราชของกรุงสยาม) ได้อพยพผู้คนส่วนหนึ่งข้ามลำน้ำโขงมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านน้ำขุ่น หนองอีจาน (ปัจจุบันคือ บ้านชีลอง) ใกล้อาณาเขตของสยามประเทศ แต่ก็ยังส่งส่วยให้เจ้าอนุวงศ์มิได้ขาด พระองค์จึงตั้งให้เป็นที่ ‘ขุนภักดีชุมพล’ จนปี พ.ศ.2365 ขุนภักดีชุมพลได้ย้ายชุมชนมาที่บ้านหลวง ได้ส่งส่วยเป็น ‘ทอง’ และขอยกฐานะบ้านหลวงขึ้นเป็นเมือง เจ้าอนุวงศ์ชื่นชมในความภักดี จึงประทานชื่อเมืองว่า ‘เมืองชัยภูมิ’ และเลื่อนบรรดาศักดิ์ให้เป็น ‘พระภักดีชุมพล’ ในปี พ.ศ.2367
ศาลพระยาภักดีชุมพล (แล) หรือ เจ้าพ่อพญาแล
ในช่วงที่ข้ามมาอยู่ฝั่งไทยนั้น ท่านได้มีโอกาสเรียนไสยเวทย์และวิชาอาคมจาก ‘ปู่ด้วง’ ชีปะขาวแห่งภูแลนคา บ้านตาดโตน ชาวเขมรที่อพยพเข้ามาฝั่งสยามในเวลาใกล้เคียงกัน ผู้รอบรู้อักขระขอมและวิทยาอาคมแก่กล้า จึงได้เคล็ดวิชามามากมายโดยเฉพาะเรื่องคงกระพันชาตรี
ต่อมา พระภักดีชุมพล (แล) มีความคิดว่า เมืองเวียงจันทน์นั้นเป็นประเทศราชของกรุงเทพฯ มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 อีกทั้งหัวเมืองต่างๆ ที่อยู่ใกล้กันต่างก็อยู่ภายใต้การดูแลของเมืองนครราชสีมาและขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ ทั้งสิ้น ท่านจึงเข้าพบเจ้าเมืองนครราชสีมา เพื่อขอขึ้นตรงและส่งส่วยถวายเป็นเครื่องราชบรรณาการให้ทางกรุงเทพฯ จากนั้นก็ไม่ส่งส่วยให้เมืองเวียงจันทน์อีกต่อไป ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 2 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะ ‘บ้านหลวง’ ขึ้นเป็น ‘เมืองชัยภูมิ’ ตามนามเดิม และเลื่อนบรรดาศักดิ์ให้เป็นที่ “พระยาภักดีชุมพล” เจ้าเมืองชัยภูมิคนแรก เหตุการณ์นี้สร้างความไม่พอใจแก่เจ้าอนุวงศ์อย่างมาก
ในปี พ.ศ.2369 เจ้าอนุวงศ์ก่อการกบฏ โดยหลอกหัวเมืองต่างๆ ว่าเดินทัพมาเพื่อช่วยกรุงเทพฯ รบกับอังกฤษ ทำให้สามารถเดินทัพผ่านมาได้สะดวกและยึดเมืองนครราชสีมาได้โดยง่าย จนเมื่อความแตกจึงถอนทัพกลับเวียงจันทน์โดยกวาดต้อนผู้คนและทรัพย์สินไปด้วย ซึ่งเกิดเป็นวีรกรรมลือเลื่องขึ้นที่ทุ่งสัมฤทธิ์ ของวีรสตรี ‘ท้าวสุรนารี’ หรือ คุณหญิงโม ภรรยาของพระยาสุริยเดช (ทองคำ) ปลัดเมืองนครราชสีมา  โดย พระยาภักดีชุมพล (แล) แม้จะเป็นชาวเวียงจันทน์ ก็พิจารณาเห็นว่าเจ้าอนุวงศ์ทำไม่ถูกต้อง จึงพร้อมด้วยเจ้าเมืองใกล้เคียงยกทัพออกไปสมทบตีกระหนาบจนทัพเจ้าอนุวงศ์แตกพ่ายไป สร้างความเคืองแค้นแก่เจ้าอนุวงศ์ยิ่งนัก ย้อนกลับมาที่ชัยภูมิ จับตัว พระยาภักดีชุมพล (แล) ประหารชีวิต ณ บริเวณใต้ต้นมะขามใหญ่ ริมหนองปลาเฒ่า แต่ด้วยวิชาทีร่ำเรียนมา ไม่ว่าทหารเจ้าอนุวงศ์จะใช้ดาบใช้มีดฟันอย่างไรก็ไร้ผล สุดท้ายจึงต้องใช้เหล็กแหลมเสียบเข้าทางทวารหนักจนถึงแก่ความตาย ...”
การเสียชีวิตของพระยาภักดีชุมพล (แล) ถือเป็นวีรกรรมสำคัญที่ชาวเมืองชัยภูมิจดจำและระลึกถึงตลอดมา ได้ยกย่องและขนานนามท่านว่า “เจ้าพ่อพญาแล” ต่อมามีการจัดสร้าง ‘ศาลเพียงตา’ ตรงบริเวณที่ถูกประหารชีวิตเพื่อบรรจุอัฐิ และแกะรูปเคารพไว้ภายในเพื่อกราบไหว้สืบมา ปรากฏว่าเจ้าพ่อพญาแลได้สร้างอิทธิปาฏิหาริย์มากมาย เป็นที่เคารพสักการะของชาวเมืองชัยภูมิยิ่งนัก 
ในปี พ.ศ.2508 ทางราชการร่วมกับพ่อค้าและประชาชนชาวชัยภูมิร่วมกันจัดสร้าง “อนุสาวรีย์พระยาภักดีชุมพล (แล)” ขึ้น ณ วงเวียนศูนย์ราชการ ปากทางเข้าสู่ตัวเมืองชัยภูมิ เพื่อเป็นอนุสรณ์และให้อนุชนรุ่นหลังได้ยึดแบบอย่างสืบไป โดยที่ฐานอนุสาวรีย์ฯ จะมีคำจารึกว่า...“พระยาภักดีชุมพล (แล) เจ้าเมืองชัยภูมิคนแรก พ.ศ. 2360-2369 เป็นผู้ซื่อสัตย์และจงรักภักดีต่อบ้านเมือง ได้สร้างเมืองชัยภูมิและพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญขึ้นเป็นลำดับ ชาวชัยภูมิได้พร้อมใจกันสร้างอนุสาวรีย์ของท่านไว้เป็นที่ระลึกเมื่อ พ.ศ. 2508”
และในปี พ.ศ.2511 ก็ได้จัดสร้างศาลใหม่ขึ้นแทน ‘ศาลเพียงตาเดิม’ ซึ่งไม่ห่างกันมากนัก ให้ชื่อว่า “ศาลพระยาภักดีชุมพล (แล)” หรือ “ศาลเจ้าพ่อพญาแล” ภายในประดิษฐานรูปหล่อเท่าองค์จริงในท่านั่ง ถือเป็นศูนย์รวมจิตใจชาวชัยนาท ซึ่งจะมีการจัดงานสักการะเป็นประจำทุกปี ในวันพุธแรกของเดือน 6 เป็นเวลา 7 วัน 7 คืน เรียก “งานบุญเดือนหก (สักการะเจ้าพ่อพญาแล)” 
ด้วยความศรัทธาในคุณูปการนานับปการของ พระยาภักดีชุมพล (แล) จึงมีการจัดสร้างวัตถุมงคลขึ้นเพื่อสักการบูชาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งล้วนเป็นที่นิยมของชาวชัยภูมิและใกล้เคียง โดยเฉพาะ “เหรียญรุ่นแรก ปี 2497” ที่นับเป็นเหรียญหลักของภาคอีสานทีเดียว สร้างโดย พ.ต.อ.ธนู ชูประเทศ ผกก.เมืองชัยภูมิและนายกเทศมนตรีในสมัยนั้น ในปี พ.ศ.2496 และนำออกมาให้เช่าบูชาในปี พ.ศ.2497 แต่ปัจจุบันหายากยิ่งเพราะผู้มีไว้ต่างหวงแหน อีกหนึ่งรุ่นที่เรียกว่า ‘มาแรง’ ได้รับความนิยมและแสวงหากันมากก็คือ 'เหรียญ ปี พ.ศ.2521' ด้วยเป็นเหรียญที่มีความงดงาม มีการจัดพิธีชัยมังคลาภิเษกอย่างเข้มขลัง และสร้างประสบการณ์มากมายแก่ผู้สักการบูชา ปกปักรักษาให้อยู่เย็นเป็นสุข อย่างไรก็ตาม ก่อนการจะหาดูหาเช่า ขอแนะนำว่าควรปรึกษาผู้รู้จริงให้ถี่ถ้วนก่อน เพราะ ‘เหรียญดีย่อมมีของปลอม’ ครับผม
                           พุทธคุณ   เมตตามหานิยม คงกระพันชาตรี แคล้วคลาดปลอดภัย
                           สภาพ       ผ่านการใช้แต่ยังสวย
                           ราคา        ติดต่อสอบถาม

Close Menu